สำเภาไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนวเกษตร บรรยากาศโดยรอบเป็นท้องทุ่งนา ซุ้มดอกไม้สวนเกษตร มีสะพานไม้ทอดยาวลงไปในพื้นที่กลางทุ่งนา ระหว่างเดินเข้ามาจากประตูทางเข้า จะพบกับสวนผัก มีแปลงผักพื้นบ้านแบบปลอดสารพิษ ผลไม้ ขนาดแปลงไม่ได้ใหญ่ แต่มีความหลากหลายของชนิดผัก ตลอดทางเดินมีจุดเดินเล่นชมวิว และถ่ายรูปได้ จุดเด่นคือสะพานไม้จะพานักท่องเที่ยวไปชมมุมต่าง รวมถึงพาไปชมศิลปะในทุ่งนาข้าว หุ่นคิงคองยักษ์ ขนาด 6 เมตรที่กำลังลากจูงเรือสำเภาลำใหญ่เป็นจุดที่หลายๆ คนตั้งใจมาที่นี่เพื่อให้ได้ถ่ายภาพกับเจ้าคิงคอง และยังมีจุดถ่ายภาพอีกหลายๆ ที่ สายเซลฟี่ต้องถูกใจอย่างแน่นอน
สวนเดอลอง เมืองเกษตรแปรรูป เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น เห็ดทอดนาโหนด ที่โด่งดังจากการนำเห็ด ผัก และดอกไม้มาทอด จัดได้ว่าเป็นนวัตกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรลำดับต้นๆ ของพัทลุง ภายในสวนเดอลองมีการสาธิตกระบวนการเพาะเห็ด สามารถทดลองเพาะเห็ดด้วยตนเอง และยังมีโซนกิจกรรมอื่นๆ เช่น โซนถ่ายรูป โซนอาหารและเครื่องดื่ม โซนกิจกรรม adventure โซนเครื่องเล่น โซน workshop/ดูงาน/ฝึกอาชีพ เป็นต้น
ชาวบ้านเชื่อกันที่นี่เป็นแอ่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถอาบไว้รักษาโรคผิวหนังได้ ซึ่งอุณหภูมิของน้ำก็จะสูงขึ้นมากด้วย ถ้าได้รับแรงสะเทือนขึ้นมา ส่วนบ่อที่ไว้แช่น้ำนั้น ก็จะแบ่งเป็น บ่อแช่เท้า บ่อแช่มือ ที่เป็นพื้นที่สาธารณะใครก็สามารถลงแช่ได้ แต่ถ้าใครที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ก็สามารถใช้บริการห้องอาบน้ำได้ โดยจะมีทั้งแบบส่วนตัว แบบครอบครัว หรือจะมานอนพักสักคืนที่นี่เขาก็มีบริการบ้านพักให้ด้วยเช่นกัน รวมไปถึงบริการ นวดฝ่าเท้า นวดผ่อนคลาย ก็พร้อมให้บริการ
จุดท่องเที่ยวที่เน้นการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ชมดาวลานยอตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบ บริเวณโดยรอบมีต้นโกงกางและต้นลำพู เป็นตัวบ่งบอกถึงระบบนิเวศที่มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม เนื่องจากเกาะหมากเป็นเกาะหนึ่งที่ตั้งอยู่ในทะเลสาบแบบลากูนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มาเกาะหมากก็ต้องมากินกุ้งก้ามกรามสามน้ำ และที่ชมดาว ลานยอก็มีส่วนร่วมในการจัดทำธนาคารสัตว์น้ำเพื่อการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ดังสโลแกน กินร้อยปล่อยล้าน กินแล้วปล่อยคืน สู่ความยั่งยืนของชุมชน ที่ชมดาวลานยอมีจุดชมวิวทะเลสาบสงขลา สามารถนั่งชมวิถีธรรมชาติ และชมพระอาทิตย์ตกยามเย็น หรือนั่งรับประทานอาหารท่ามกลางบรรยากาศในช่วงพระอาทิตย์ตก และยังมีกิจกรรมอื่นๆ ให้เลือกหลายอย่าง เช่น พายเรือคายัค เล่นชิงช้ากลางน้ำ ลงเรือเที่ยวเกาะต่างๆ
คำว่านาโปแก เป็นภาษาพื้นบ้านท้องถิ่น "นา"ก็คือ นาข้าว “โป” เป็นสำเนียงปักษ์ใต้ หมายถึง ปู่หรือพ่อของพ่อ "แก" เป็นภาษาใต้หมายถึงย่า หรือแม่แก่และใช้แทนผู้ที่เราพูดถึง เมื่อรวมความหมายที่เข้าใจได้ ก็แปลว่า ที่นาของปู่และย่า ภายในศูนย์เรียนรู้นาโปแกมีแปลงปลูกข้าวสาธิต ที่เต็มไปด้วยข้าวพันธุ์พื้นเมืองต่างๆ เช่น ข้าวสังข์หยด ข้าวไข่มดริ้น ข้าวดอกยอม ข้าวหอมจันทร์ ฯลฯ ตลอดจนเป็นศูนย์เรียนรู้วิถีการทำนาโบราณและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมเมืองลุง ที่นักท่องเที่ยวจะได้ลงแรงทำตั้งแต่การไถนากับควาย หว่านข้าว ถอนกล้า หาบกล้า ดำนา เก็บข้าวเป็นเลียงด้วยแกะ(เครื่องมือเก็บข้าวแบบโบราณ) นวดข้าวกับเท้า สีข้าว ตำข้าวกับครกสี ขวัดข้าวจนเป็นข้าวซ้อมมือพร้อมหุง อีกทั้งให้หญ้าควาย แกะ แพะ ม้า และขี่ม้า ขี่ควายชมทุ่ง ให้อาหารปลา ให้นักท่องเที่ยวสัมผัสความกับธรรมชาติแท้จริง