เที่ยวสัมผัสแหล่งธรรมชาติ พัทลุง


สวนพฤกษศาสตร์พนางตุง

สวนพฤกษศาสตร์พนางตุง ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงมีลักษณะเด่น คือเป็นป่าพรุผืนใหญ่ของจังหวัดพัทลุง ฝั่งตะวันออกติดทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นทะเลสาบแบบลากูนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้นเสม็ดขาวที่ตั้งตระหง่านตั้งแต่หน้าทางเข้าสวนพฤกษศาสตร์ ลักษณะคล้ายเป็นอุโมงค์ต้นไม้ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 930 เมตร ซึ่งเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติป่าพรุ ทั้งต้นเสม็ดขาว ย่านลิเภา รวมทั้งพันธุ์ไม้อื่น ที่เติบโตในพื้นที่ชุ่มน้ำ


ปากประ 

ภาพยอยักษ์กับแสงแรก หรือภาพยอยักษ์กับดวงอาทิตย์กลมโตที่กำลังขึ้นจากผิวน้ำ เป็นภาพที่ใครได้เห็นก็ต้องอยากมาสัมผัสบรรยากาศยามเช้าที่จุดชมวิวยอยักษ์ บ้านปากประ ปากประ คือ จุดที่คลองปากประไหลมาบรรจบกับทะเลสาบสงขลา ต้นน้ำของคลองปากประอยู่บนเขาปู่เขาย่า ลำน้ำสายเล็กๆ ไหลลงมาจากป่าฝน ผ่านเรือกสวนไร่นา ผ่านชุมชนขนาดเล็ก แล้วไหลรวมกันเป็นคลองปากประบริเวณบ้านท่าสำเภา ปลายทางของคลองปากประคือจุดบรรจบของสายน้ำจากเทือกเขากับลากูน ซึ่งก็คือทะเลสาบสงขลา


ทุ่งแหลมดิน 

ทุ่งแหลมดิน คือบริเวณพื้นที่กว้างฝั่งทะเลสาบ เป็นเสมือนขอบเขตของทะเลสาบก่อนจะเข้าสู่ทะเลน้อย อยู่บริเวณสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ลักษณะเป็นเนินดินที่มีบริเวณกว้าง ถูกปกคลุมด้วยหญ้าเขียว เหมาะสำหรับนกชนิดต่างๆมาทำรังออกไข่ หาอาหารกินตามทุ่งหญ้าซึ่งเป็นทุ่งโล่งมีหญ้าสั้นๆ ขึ้นเขียวขจี ในฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมบนเนินดินตลอดช่วงฤดูฝน กลายเป็นพื้นที่หาอาหารขนาดใหญ่ของนกน้ำ รวมถึงควายน้ำก็ได้เข้าใช้พื้นที่ของทุ่งแหลมดินในการหาอาหารและดำรงชีวิต


ควายปลัก มรดกโลกทางการเกษตร

การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง และ จ.สงขลา ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Advisory Group: SAG) ของ FAO และได้ประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร (Global Important Agricultural Heritage Systems หรือ GIAHS) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และนับเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย โดยวิถีการเลี้ยงควายเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมากว่า200ปี มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว โดยการปล่อยเลี้ยงให้ควายหากินอย่างอิสระในพื้นที่ชุ่มน้ำ ควายฝูงหนึ่ง ๆจะมีควายที่ทำหน้าที่คุมฝูง 1 ตัว การเลี้ยงควายในพื้นที่ชุ่มน้ำ ช่วงที่ระดับน้ำเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ควายสามารถปรับตัวอยู่พื้นที่ชุ่มน้ำดำน้ำลงกินหญ้าที่จมอยู่ใต้น้ำและว่ายน้ำ ทำให้หลายๆคนเรียกว่า “ควายน้ำ” ความสำคัญของควายในระบบนิเวศ คือสามารถกำจัดหญ้าและพืชน้ำที่ขึ้นอยู่ในทะเลน้อยได้ รอยเดินเหยียบย่ำของควายยังทำให้เกิดทางน้ำธรรมชาติ เราสามารถนั่งเรือชมวิถีควายปลัก และชมควายปลักจากมุมบนสะพานสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาได้


รีวิว (0 เรตติง)