สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ
ที่จอดรถ
ทางลาด
ห้องน้ำ
ทางผู้พิการทางการเคลื่อนไหว
ทางเดินผู้พิการทางสายตา
ลิฟท์
สิ่งอำนวยความสะดวก
ห้องน้ำ
อาหาร
ร้านค้า
ที่จอดรถ
สัตว์เลี้ยง
ผู้สูงอายุ
ผู้ปกครอง
สำหรับเด็ก
*สีเขียว มีบริการ
**สีเหลือง หมายถึง อยู่ระหว่างการปรับปรุงหรือมีแล้วแต่ยังไม่ได้มาตรฐาน
***สีเทา(สีแดง) หมายถึง ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ
ในจำนวนโบราณสถานนอกเขตกำแพงเมืองสุโขทัยทั้งหมดนั้น ไม่มีวัดแห่งใดมีอาณาบริเวณกว้างขวางเท่ากับวัดพระพายหลวง ซึ่งล้อมรอบด้วยคูน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "คูแม่โจน" เลยสักแห่ง แค่เพียงเหตุผลนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัดแห่งนี้ในสมัยโบราณได้อย่างดี ทว่าหากได้เข้ามาชมโบราณสถานในวัดแล้ว จะพบว่ามีโบราณสถาน สร้างขึ้นในแนวทิศตะวันออก – ทิศตะวันตกของวัด โดยมี "ปรางค์" สามองค์เรียงอยู่บนฐานเดียวกันในแนวทิศเหนือ-ใต้เป็นสถาปัตยกรรมประธาน สร้างด้วยศิลาแลง ปรางค์องค์กลางและองค์ด้านทิศใต้นั้น ส่วนยอดพังทลายลงมาแล้ว เหลือเพียงส่วนเรือนธาตุ แต่ปรางค์ด้านทิศเหนือคือสิ่งที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะมีเรือนยอดอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์แล้ว ลายปูนปั้นก็ยังเหลือร่องรอยอยู่ค่อนข้างมาก มีทั้งพระพุทธรูป รูปพระสาวก รูปเทวดา ลายกนก และลายพรรณพฤกษา ให้ชื่นชมความงามได้เต็มอิ่มภายในห้องครรภคฤหะของปรางค์เหล่านี้ยังมีแท่นฐานรูปเคารพตั้งอยู่ แต่รูปเคารพไม่ปรากฏอยู่แล้ว ลักษณะเหล่านี้ชี้ให้เราทราบว่าเป็นศิลปกรรมในอิทธิพลของขอม ด้านหน้าปรางค์ทั้งสามมีวิหารหลวง ถัดจากวิหารหลวง มีเจดีย์ทรงเหลี่ยมที่มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่โดยรอบ หากสังเกตดีดีจะพบว่าพระพุทธรูปบางองค์ถูกโบกปูนทับ แสดงให้เห็นว่ามีการก่อสร้างเพิ่มเติมโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบของเจดีย์ คงแก้ไขจากเจดีย์ทรงเหลี่ยมแบบลำพูนให้กลายเป็นเจดีย์ดอกบัวตูมแบบที่นิยมในสมัยอาณาจักรสุโขทัย ถัดออกไปทางด้านหน้าวัด จะพบสถาปัตยกรรมที่สันนิษฐานว่าเป็นมณฑปพระสี่อิริยาบถ ด้วยยังมีแกนของอาคารที่มีพระพุทธรูปซึ่งแม้จะทรุดโทรมมากแล้วแต่ก็พอจับเค้าได้ว่าเป็นพระยืน 1 องค์ นั่ง 2 องค์ และเดินอีก 1 องค์เหลืออยู่ ด้านหน้าของพระเดิน หรือพระลีลา มีซากก่ออิฐที่สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปนอนประดิษฐานอยู่ ทำให้วิหารพระสี่อิริยาบถแห่งนี้น่าสนใจ เพราะสร้างพระนอนแยกออกมาจากแนวแกนของอาคาร อาจเป็นเพราะมีข้อจำกัดเรื่องขนาดพื้นที่ที่มีความกว้างไม่เพียงพอกับการสร้างพระนอน ทำให้มีผู้สันนิษฐานว่ามณฑปพระสี่อิริยาบถแห่งนี้อาจถูกสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกๆ ของสุโขทัย รูปแบบสถาปัตยกรรมที่หลากหลายของสิ่งก่อสร้างหลักของวัดนี้ นักวิชาการเชื่อว่าเป็นผลมาจากความสำคัญของวัดที่เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจอยู่ในสุโขทัย และแม้กาลเวลาและการเมืองจะเปลี่ยนไป แต่ความสำคัญของวัดไม่เคยเปลี่ยน จึงมีการสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่เพิ่มเติม ขยายพื้นที่ออกมาทางด้านหน้าวัด ตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ดังนั้นในปี พุทธศักราช 2525 เมื่อรัฐบาลไทยมีโครงการจะสร้างอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ขึ้นในกรุงเทพมหานคร และดำริจะค้นหาดินจาก 7 สมรภูมิรบที่สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยไปบรรจุไว้ยังสถานที่นั้น ประจวบกับมีการขุดสำรวจจนถึงรากฐานของปรางค์องค์ทิศเหนือของวัดพระพายหลวง ซึ่งเชื่อว่าอยู่ในยุคเดียวกับช่วงขอมสบาดโขลญลำพงมีอำนาจ และศูนย์กลางของเมืองสุโขทัยในเวลานั้นคือวัดแห่งนี้ ดินในชั้นนั้นจึงร่วมสมัยกับสงครามปลดแอกสุโขทัย นำโดยพ่อขุนบางกลางท่าว และพ่อขุนผาเมือง จึงนำดินบริเวณนั้นไปยังอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดังกล่าว
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Link : http://www.phraruangheritage.com/th/travel_historicalpark_sukhothai_wat_phrapai_luang.php