ประวัติชุมชน ชุมชนไม้ใหญ่ในเขตเมืองเก่า นครลำปาง เรื่องเล่าและเรื่องราวของชุมชนท่ามะโอแผ่นดินตรงนี้ สืบค้นได้ยาวนานถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยมนุษย์เกาะคา เรื่อยมาถึงหริภุญชัย จนมาถึงเขลางค์นคร และล้านนา จบจนเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และยุคอิทธิพลสยามและตะวันตกอันเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุด รถไฟนำความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วมาสู่ลำปางและท่ามะโอ จะมีกี่เมืองในประเทศไทยที่สามารถสืบค้นลงไปลึกถึงขนาดนี้ เมืองเก่าเมืองนี้มีเรื่องเล่าแต่ละยุคแต่ละสมัยน่าสนใจยิ่ง ถึงวันนี้ชุมชนท่ามะโอจะเปิดตัวให้ทุกคนได้เข้าค้นหาคำตอบของที่นี่ เพราะอะไรทำไมเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ถึงไม่เคยหลุดหายไปจากกาลเวลาเลย...มันต้องมีอะไรสักอย่าง
\t\tชุมชนบ้านท่ามะโอ ในอดีตพื้นที่แถบนี้เป็นเส้นทางค้าขายทางน้ำใช้เรือและแพเป็นพาหนะ แต่ละหมู่บ้านที่ตั้งอยู่จึงใช้ชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “ท่า” และด้วยชุมชนนี้มีต้นมะโอใหญ่ปลูกอยู่บริเวณริมน้ำ จึงใช้เป็นสัญลักษณ์เรียกแทนชื่อหมู่บ้านว่า บ้านท่ามะโอ มีผู้คนอาศัยอยู่ถิ่นนี้มากมายหลายเผ่าพันธุ์ทั้ง ไทใหญ่ พม่า จีน ฝรั่ง ขมุ ไทลื้อ ฯลฯ มารุ่งเรืองที่สุดในช่วงของการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ ร่องรอยต่าง ๆ ยังคงทิ้งไว้ให้เป็นจำนวนมาก ในครั้งนั้นผู้คนจำนวนมากทั้งยุโรป พม่า ไทใหญ่ ไทยวน ต่างเดินทางเข้ามาอยู่ในวงจรธุรกิจป่าไม้ จนเกิดเป็นชุมชนที่มีความเจริญของจังหวัดลำปาง ดูได้จากหลักฐานสองข้างทางของย่านท่ามะโอที่มีบ้านเรือนอันมีเอกลักษณ์สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมอันงดงาม ต้นสักสูงตระหง่านเหยียดตรงหลายต้น วัดเก่าที่แทรกตัวอยู่ในชุมชน วิถีชีวิตผู้คนที่เรียบง่าย เหล่านี้คือสิ่งที่ชุมชนแห่งนี้ไม่เคยขาดและคงมีตลอดไป
ประเพณีและวัฒนธรรม
- วันตานข้าวใหม่ คือการนำข้าวเปลือกเข้ายุ้งฉางแล้ว จะนำข้าวนั้นไปทำบุญตานข้าวใหม่ เพื่อเป็นพุทธบูชาและอุทิศส่วนกุศลไปถึงเทวดาขุนน้ำ ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ที่เป็นเจ้าของไร่นามาแต่เดิม ตรงกับวัน 4 เป็งเหนือ (ขึ้น 15 ค่ำ) เดือนมกราคมของทุกปี
- การนับถือผีบรรพบุรุษ ทุก ๆ ปีจะมีประเพณีประจำตระกูล เพื่อสืบทอดประเพณีและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ เป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ การเลี้ยงผีจะมีหลายรูปแบบในปัจจุบันนิยมเลี้ยงแบบเงียบ ในการเลี้ยงจะมีลาบ แกงอ่อม ขนม ผลไม้ น้ำมะพร้าว เหล้าขาว บางครั้งก็จะจัดให้มีการฟ้อนผีเพื่อเป็นการแก้บนในเรื่องสุขภาพ การเงิน การงานที่สำเร็จดังปรารถนา จัดในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน ของทุกปี
- ประเพณีต่างข้าวซอมต่อ (ถวายข้าวมธุปายาส) คือการถวายข้าวแด่พระพุทธเจ้าเป็นพุทธบูชา จัดในช่วงวันออกพรรษาของทุกปี
- ประเพณีล่องสะเปา สะเปานั้นมีรูปร่างคล้ายเรือเรือสำเภา ในสะเปาจะใส่ ผลไม้ อาหารคาวหวาน ยาสูบ หมาก พลู ดอกไม้ ธูป เทียน ฯลฯ ลงไปด้วย เพื่อเตรียมไว้ใช้สำหรับภพหน้า นอกจากนั้นยังถือเป็นการลอยทุกข์โศก เป็นการบูชาและขอขมาแม่น้ำอีกด้วย ตรงกับวันยี่เป็งเหนือ (ขึ้น 15 ค่ำ) วันลอยกระทงของทุกปี
- ประเพณีปี๋ใหม่เมือง มีกิจกรรมแห่ไม้ค้ำศรี ตานขันข้าว รดน้ำดำหัว ขนทรายเข้าวัด จัดช่วงวันที่ 13-16 เมษายนของทุกปี
กิจกรรม
- นั่งรถรางชมวิถีชุมชน
- ปั่นจักรยานชมวิถีชุมชน
- ชมวิถีชีวิตคนเลี้ยงม้า
- กิจกรรมภูมิปัญญาชาวบ้าน
- กิจกรรมทำอาหารพื้นบ้าน
อาหารพื้นถิ่น
- ข้าวปั้น (มีที่เดียวที่ จังหวัดลำปาง)
- แกงสี่เปี่ยน (อาหารไทใหญ่)
- แกงฮังเล
- ไข่ป่าม
- ขนมปาด
ผลิตภัณฑ์
- ผงฮังเล
- ตุงพญายอ
- ผางประทีป
- สมุนไพรแปรรูป ได้แก่ ยาสีฟันใบข่อย ชาชงเชียงดา ฟ้าทะลายโจร