ประวัติชุมชน สิบสองปันนาแดนเกิด ถิ่นกำเนิดเจ้าสามฝั่งแกน ดินแดนคนไตลื้อ เลื่องลือวัฒนธรรม อยู่ดีกินหวาน เป็นคำทักทายของคนไตลื้อ ก่อนที่จะรู้จักคำว่า สวัสดี ถือเป็นคำอวยพรให้แก่ผู้มาเยือนมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียน บรรพบุรุษของคนไตลื้อเมืองลวงเหนืออพยพมาจากสิบสองปันนา เมื่อ พ.ศ. 1932 ซึ่งตรงกับช่วงสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 7 สาเหตุที่อพยพมาก็เนื่องจากมาค้าช้าง ม้า วัว ควาย และมาตามหาญาติพี่น้อง เมื่อพบทำเลดีมีแม่น้ำจึงสร้างหลักปักฐานอยู่กันเป็นครอบครัว จนเกิดเป็นหมู่บ้านขึ้น เรียกว่าหมู่บ้านเมืองลวงเหนือ หมายถึง ถิ่นที่อยู่ที่มีพญาลวงอันเป็นสัตว์ประเสริฐตามจินตนาการของคนไตลื้อมาเล่นฝ้า ( เมฆ ) เพื่ออำนวยอวยพรให้คนในพื้นที่อยู่ดีมีสุข ด้วยเหตุที่อพยพมานานถึง 600 กว่าปี จึงทำให้วิถีชีวิตประเพณีและวัฒนธรรมดั่งเดิมเลือนหายไปบ้าง ทั้งนี้เพราะคนไตลื้อจะใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย เมื่ออยู่ปะปนกับคนพื้นเมืองล้านนาก็จะทำตัวให้กลืนเข้ากับคนพื้นเมือง ดั่งสำนวนที่ว่า เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม ยิ่งสังคมเปลี่ยนแปลงไปชุมชนก็ไหลไปตามกระแส อาคารบ้านเรือน วิถีชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่ยังคงทนอยู่ไม่เคยเลือนหายไปจากชุมชน นั่นคือภาษาพูดไตลื้อนั่นเอง
ต่อมาเมื่อทางราชการไทยให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมว่า การรักษาวัฒนธรรมคือการรักษาชาติ จึงทำให้ทุกท้องที่ฟื้นฟูวัฒนธรรมของตนเอง และชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือก็เช่นกัน ได้เริ่มฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมไตลื้อขึ้นมาเมื่อประมาณ 20 กว่าปีมานี้ โดยเริ่มจากโรงเรียนบ้านลวงเหนือที่เอื้อให้นักเรียนใส่ชุดไตลื้อขึ้นมาก่อน จากนั้น ชาวบ้าน พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นจึงเกิดความภาคภูมิใจร่วม ได้พร้อมใจกันสืบทอด รักษาวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมไตลื้อให้กลับคืนมาอยู่คู่กับชุมชน และได้นำความโดดเด่นทางวัฒนธรรมไตลื้อมาเป็นสื่อนำในการท่องเที่ยวโดยชุมชน จนเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป
ประเพณีและวัฒนธรรม
- ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า จัดเป็นประจำ ทุกเดือน 9 ของทุกปี คือเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ผีเจ้าที่เจ้าทางนับถือเป็นญาติ สิ่งที่นำไปไหว้ คือ ขนม ผลไม้ ไก่ ที่บ้านอันเป็นต้นตระกูลของตนเอง
- ประเพณีตักบาตรดอกไม้ จัดทุกวันเข้าพรรษาของทุกปี คือพระสงฆ์ทำพิธีปวรณาตัวเข้าพรรษา พระจะประกาศให้ชาวบ้านหาดอกไม้มาใส่บาตรเอาไปใส่บาตรพระ จากนั้นนำไปเทรวมกันและให้ชาวบ้านจัดใส่พานให้กับพระสงฆ์นำไปขอขมาพระผู้ใหญ่เพื่อเข้าพรรษาชาวบ้านก็ได้ร่วมทำบุญด้วยกัน
- ประเพณีทำบุญเสากลางใจบ้าน (เสื้อบ้าน) ทุกวันที่ 13 เมษายนของทุกปี
กิจกรรม
- สัมผัสวัฒนธรรมรสชาติของคนไตลื้อ
- สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม
- เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมพื้นบ้าน
อาหารพื้นถิ่น
- เตา เตาเป็นสาหร่ายที่อยู่ในทุ่งนา นำมาส้าเตาคือการนำเตาดิบมายำ เจี๊ยวเตา คือการนำเตาผสมกับเนื้อปลาปรุงให้อร่อยนำไปผัดกับน้ำมัน กระเทียม มีรสชาติหวานอร่อย
- หมี่กบใส่ตูน ตูนคือพืชตระกูลบอนชนิดหนึ่งแต่มีรสหวานและนิยมนำมาทำเป็นอาหาร คำว่าหมี่แปลว่าน้ำพริก คนสิบสองปันนาเรียกน้ำพริกว่าน้ำหมี่ เช่น น้ำหมี่ตาแดง น้ำหมี่ปู๋ โดยการตำน้ำพริกใส่กบแล้วนำมาแกงใส่ตูน คล้ายกับยำไก่ที่ใส่พริกแห้งกับพริกหนุ่ม แต่คนไตลื้อจะใส่พริกหนุ่ม ลักษณะแกงใส่ใบขิงมีที่บ้านลวงเหนือที่เดียว
- น้ำพริกน้ำผัก
- น้ำพริกน้ำปู๋
- ขนมวง (ขนมต๊องก๊อง) โดยการนำแป้งข้าวเหนียวผสมกล้วยน้ำว้าที่สุกงอม นำมานวดกับแป้งข้าวเหนียวเหมือนขนมเทียนแล้วนำมาคลึงกับมือเป็นเส้นคล้ายโดนัทแล้วนำมาต่อกันภาษาไตลื้อเรียกว่าต้องก้อง ในปัจจุบันวิธีทำถูกพัฒนาขึ้นทำมาเป็นวงกลมแบน และนำไม้ตะเกียบแทงเข้าไปคลึงให้เป็นรูคล้ายโดนัท และนำไปทอด และนำน้ำอ้อยไปเคี่ยวจากนั้นนำมาราดบนขนมวง รสชาติ เหนียวนุ่ม อร่อย
ผลิตภัณฑ์
- ตุ๊กตาไม้นายโถ
- ผ้าทอไตลื้อ ลายตาหมาควายหลวงและผลิตภัณฑ์จากผ้าทอ
- ข้าวแคบ
- งานจักสาน
- กระดาษสา
- พวงมาลัยฝ้ายมงคล