ประวัติชุมชน ชุมชนพระบาทห้วยต้ม...เรียบง่ายและงดงาม แสดงออกถึงวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอได้อย่างชัดเจน เรื่องราวชีวิตและศรัทธาของปกาเกอะญอ ชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้ม มีความน่าสนใจในวิถีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย เคร่งครัดในพระพุทธศาสนา นำพาประเพณีและวัฒนธรรม เกษตรกรรมนำทางเสริมสร้างอาชีพด้วยเครื่องเงิน งานจักสาน ผ้าทอ ศิลาแลง สุขสงบพบธรรม ด้วยคำสอนของหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ให้ชาวปกาเกอะญออยู่ดีมีพระรัตนตรัยและใจศีล กินคลีนถือมังสวิรัติ งดเนื้อสัตว์ของมึนเมา แต่งชุดประจำเผ่าเข้าวัดทำบุญ คือความเป็นอยู่ของผู้คนบ้านพระบาทห้วยต้ม ที่ยังสามารถพบเห็นได้เมื่อเข้ามาดินแดนแห่งบุญ ลำพูนเมืองลี้
ชุมชนพระบาทห้วยต้มทุกอย่างเริ่มต้นที่นี่ เกิดจากการที่ชาวปกาเกอะญอได้ติดตามหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา มาบูรณะและสร้างวัดพระพุทธบาทห้วยต้มขึ้นมาใหม่ เริ่มในปี พ.ศ.2514 จนปี พ.ศ.2518 ได้เปิดเป็นหมู่บ้านพระบาทห้วยต้มอย่างเป็นทางการ ต่อมาในปี พ.ศ.2521 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรบ้านพระบาทห้วยต้ม พร้อมทั้งทรงตรัสฝากฝังพสกนิกรกลุ่มนี้ให้หลวงปู่ครูบาฯ ช่วยขัดเกลา จากวันนั้นถึงวันนี้ชาวปกาเกอะญอหลายพื้นที่ได้เดินทางเข้ามาอยู่ในชุมชนพระบาทห้วยต้ม ทั้งหมด 10 หมู่บ้าน ทั้งจากตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน สำพูน ลำปาง หากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าที่นี่ไม่มีการเลี้ยงสัตว์ เพราะห้ามทานเนื้อสัตว์ ส่วนใหญ่ถือมังสวิรัติ ด้วยความรักสงบและเป็นมิตรอันเป็นนิสัยดั่งเดิมของชาวปกาเกอะญอ ทำให้บรรยากาศของหมู่บ้านแห่งนี้เหมาะกับการที่จะพาตัวเองไปสัมผัส สักครั้งหนึ่งในชีวิต
ประเพณีและวัฒนธรรม
- ประเพณีเปลี่ยนผ้าเครื่องสรีระหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา วันที่ 15 - 17 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้พัฒนาชุมชนพระบาทห้วยต้ม ทำให้ชาวปกาเกอะญอทั่วสารทิศเดินทางมาร่วมขบวนแห่ต้นไทยทาน เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิตตนเอง
- ประเพณีสะเดาะเคราะห์หมู่บ้าน ระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายนของทุกปี เพื่อเป็นการทำบุญให้กับใจบ้านหรือสะดือเมืองซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของหมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม จะมีการตักบาตร สวดมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับหมู่บ้าน
- ประเพณีการทำบุญตักบาตรประจำทุกวัน แต่ในทุกวันพระ ผู้คนจะหยุดงานและร่วมกันทำบุญสวดมนต์มากเป็นพิเศษ และที่พิเศษไม่เหมือนที่ไหน คือ การทำสังฆทานผัก ณ ศาลาตักบาตร วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
กิจกรรมท่องเที่ยว
- กิจกรรมการทอผ้ากี่เอว ตามวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ ที่มีสีสันสวยงามเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ 5 ดาว
- กิจกรรมทำเครื่องเงิน ลวดลายอันมีเอกลักษณ์ ดัดแปลงจากธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมาเป็นเครื่องประดับได้อย่างลงตัว
- กิจกรรมทำอาหารพื้นถิ่น ที่สะท้อนวิถีชีวิตของชุมชนปกาเกอะญอ รวมทั้งการปรุงอาหารและวัตถุดิบที่แสดงถึงภูมิปัญญาของปกาเกอะญอไว้อย่างชัดเจน
- ชมการแสดงต้อนรับจากเด็กในชุมชน ได้แก่ การรำดาบ , การแสดงกะเหรี่ยงทอผ้า กระเหรี่ยงปั่นฝ้าย เป็นต้น
อาหารพื้นถิ่น
- ต๊ะกะเปาะ (ข้าวเบ๊อะ)
- มุและซู (น้ำพริกดำ)
- ต๊ะจือที (แกงเย็น)
- ต๊ะพอที (น้ำต้มผัก)
ผลิตภัณฑ์
- ผ้าทอลายกระเหรี่ยง
- สร้อย แหวน กำไล ทำจากเครื่องเงิน