จากสิบสองปันนาสู่เชียงคำ... จุดหมายปลายทางแห่งวัฒนธรรมไทลื้อ ชาวไทลื้อแห่งอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เดิมภูมิลำเนาอยู่ที่พันนาเมืองพง ซึ่งประกอบด้วย เมืองพง เมืองหย่วน เมืองมาง ซึ่งตั้งอยู่ในแคว้นสิบสองปันนาทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ต้องอพยพเดินทาง “บ่ายหน้าข้ามโขง” มาด้วยเหตุความเดือดร้อนจากสงคราม โดยเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ บ้านหงาว อ.เทิง จ.เชียงราย เป็นที่แรก อาศัยอยู่ได้เพียง 7 ปี ก็ต้องโยกย้ายไปอยู่ที่เชียงม่วน ด้วยเหตุผลทางด้านนโยบายการปกครอง แต่ด้วยสภาพบ้านเมืองที่คับแคบ สภาพความเป็นอยู่แร้นแค้น เนื่องจากภูมิประเทศไม่เหมาะกับการทำอาชีพเกษตรกรรม จึงขออนุญาตเจ้าเมืองน่านย้อนกลับมาอยู่ที่เชียงคำ เนื่องจากเห็นว่าเป็นที่ราบลุ่มทำเลดี มีแม่น้ำหลายสาย เหมาะแก่การตั้งบ้านเรือน ให้สามารถใช้ชีวิตอย่าง “อยู่สุขกินหวาน” คือการได้อยู่อย่างสุขสบายใจนั่นเอง โดยชาวไทลื้อที่มาจากเมืองหย่วนก็มาตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านหย่วน ผู้ที่มาจากเมืองมางก็มาอยู่อาศัยที่บ้านมางจนถึงปัจจุบัน
โดยในปัจจุบันชุมชนบ้านไทลื้อเชียงคำยังคงดำรงรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทลื้อที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ทั้ง วัฒนธรรมการแต่งกาย รูปทรงบ้านเรือน อาหารการกิน ความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนา ศิลปะที่โดดเด่นของชาวไทลื้อได้แก่ งานผ้าทอไทลื้อ มีการรวบรวมประวัติความเป็นมาและวิถีชีวิตของชาวไทลื้อเชียงคำไว้ถึงสามสถานที่ ได้แก่ หอประวัติไทลื้อ วัดพระธาตุสบแวน จุดที่สองคือ ในพระวิหารวัดแสนเมืองมา และศูนย์วัฒนธรรมไทยลื้อ วัดหย่วน ที่พร้อมให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตที่น่าประทับใจ ด้วยสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรมต่าง ๆ มากมาย และที่สำคัญ คือการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากเจ้าบ้าน ที่ถ้าได้มารู้จัก แล้วจะต้องหลงรักชุมชนบ้านไทลื้อเชียงคำ
ประเพณีและวัฒนธรรม
- วันตานข้าวใหม่
- วันทานธรรม เดือนมีนาคมของทุกปี
- วันสังขารล่อง ใส่ข้าวลดเคราะห์ จัดทุกวันที่ 13 เม.ย. ของทุกปี
- วันเน่า ก่อเจดีย์ทราย จัดทุกวันที่ 14 เม.ย. ของทุกปี
- วันพญาวัน ทำบุญสืบชะตาหลวง สรงน้ำพระ ตานตุง ตานเจดีย์ทราย จัดทุกวันที่ 15 เม.ย. ของทุกปี
- วันปากปี ใส่ข้าวราศี ส่งเคราะห์บ้านสงเคราะห์เมือง จัดทุกวันที่ 16 เม.ย. ของทุกปี
- พิธีเลี้ยงเทวดา และผีบรรพบุรุษ
- วันตานสลาก แต่ละปีจะมีวันไม่แน่นอน แต่จะอยู่ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนออกพรรษาหรือหลังออกพรรษาหนึ่งเดือน
- ศิลปะการแสดงไทลื้อ มี ฟ้อนรำ ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ขับลื้อ ฆ้องกลอง
กิจกรรม
- กิจกรรมทำมือสื่อความหมาย ได้แก่ ทำตุงไส้หมู ทำหมากกอน ตุ๊กตาไทลื้อ ของที่ระลึกจากผ้าทอ กิจกรรมสายสร้อยร้อยรัก
- กิจกรรมทอผ้า
- กิจกรรมย้อมสี
- กิจกรรมทำอาหารไทลื้อ
- กิจกรรมการละเล่น เช่น การสอนภาษาไทลื้อ การโยนหมากกอน การละเล่นไทลื้อ
อาหารพื้นถิ่น
อาหารคาว
- แอ่งแถะ
- จิ้นซ่ำพริก
- ข้าวบ่ายแซ่ง
- ปลาปิ้งอบ
- ถั่วโอ่
- แกงขนมเส้นแห้ง
อาหารหวาน
- ข้าวแคบและขนมปาด
- ข้าวแต๋นซี่
- ข้าวต้มดอกซ้อ
- ข้าวต้มหัวหงอก
ผลิตภัณฑ์
- ผลิตภัณฑ์จากผ้า เช่น เสื้อผ้าไทลื้อ, พวงกุญแจไทลื้อ
- ผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น กะละแม, ข้าวแต๋นซี่, ข้าวแคบ, ข้าวโอ่
- โมเดลวิถีชีวิตไทลื้อ