Smartdasta Available on the
อเนกกุศลศาลา (วิหารเซียน)
วิหารเซียน เป็น "ศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน" ที่จัดแสดงทั้งด้านศาสนา ภาษาศิลป์ ภาพเขียนจีนอันล้ำค่า ศิลปกรรมจากการปกครองและความเป็นอยู่ของชาวจีนโบราณ รวมทั้งงานสถาปัตยกรรมจีนที่งดงาม ซึ่งนับเป็นแหล่งรวมศิลปะชั้นสูงของไทยและจีน โดยอาคารสูงสามชั้นและอาคารบริวารทั้งหมดของวิหารเซียนนั้น เป็นรูปทรงสถาปัตยกรรมจีนที่สร้างขึ้นตามศาสตร์ฮวงจุ้ยเพื่อความเป็นสิริมงคล ภายในวิหารเซียนแห่งนี้มีหลากหลายสิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยว อาทิ หุ่นทหารดินเผาและรถม้าสำริดที่ขุดพบจากสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ เมืองซีอาน ที่ทรงคุณค่ากว่า ๑๐ ชิ้น แบบจำลองสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ แบบจำลองกำแพงเมืองจีน รูปภาพเขียนจีนเก่าแก่และร่วมสมัยเป็นจำนวนมากที่รัฐบาลประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มอบให้มาจัดแสดงเป็นการถาวร รวมถึงรูปปั้นดินเผาอันทรงคุณค่าอย่างมากชุด ๑๘ อรหันต์ขนาดใหญ่ที่จัดทำโดยศิลปินระดับปรมาจารย์ที่มีความชำนาญในการปั้น ๑๘ อรหันต์ของประเทศจีนที่มีเพียง ๒ ชุดในโลก ชุดพระเก้าอี้ที่ประทับขนาดใหญ่ที่สร้างจากไม้ที่หายากและเป็นไม้อนุรักษ์ของประเทศจีนที่มีอายุกว่า ๑๓๐ ปี หินแกรนิตแกะสลักรูปสัตว์ชนิดต่างๆ ตามความเชื่อของชาวจีน เครื่องปั้นดินเผาโบราณ เครื่องใช้สำริดโบราณ ภาพวาด เครื่องดนตรีจีนที่ล้วนมาจากประเทศจีน รวมทั้งรูปหล่อโลหะชุดพระวัดเส้าหลินแสดงท่ามวยจีนที่เลื่องชื่อ ซึ่งนักท่องเที่ยวได้ให้ความสนใจถ่ายรูปด้วยเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นแล้ว ยังมีโซนที่แสดงศิลปกรรมของประเทศไทยด้วย อาทิ ชุดเรือพระที่นั่งจำลอง ชุดบ้านเรือนไม้สักของแต่ละภาคในประเทศไทย งานไม้สักแกะสลัก ชุดเครื่องดนตรีไทยฝังมุก พระพุทธรูปทั้งในแบบของไทยและจีนเป็นต้น อีกทั้งยังมีรูปหล่อเทพเจ้าจีนเก่าแก่เป็นจำนวนมากและหลากหลายจากประเทศจีนให้นักท่องเที่ยวได้สักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล แสดงให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมในด้านศาสนาอันมีมายาวนานนับเป็นพันๆ ปีของประเทศจีน ความงามและคุณค่าของสิ่งของที่จัดแสดงและอาคารทั้งปวงของวิหารเซียนนี้ ทำให้ทริปแอดไวเซอร์ (เว็ปไซต์ท่องเที่ยวใหญ่ที่สุดในโลก) ได้จัดอันดับวิหารเซียนให้อยู่ในอันดับ ๖ "พิพิธภัณฑ์แนะนำให้เที่ยวในไทย" ในปี ๒๕๕๖ โดยสำรวจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก จึงอาจกล่าวได้ว่า "ไม่ต้องไปไกลถึงเมืองจีน เพียงได้มาชมวิหารเซียน" วิหารเซียนแห่งนี้จัดสร้างขึ้นโดยอาจารย์สง่า กุลกอบเกียรติ พร้อมคณะ ได้ทูลเกล้าฯ น้อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๖ และดำเนินการบริหารจัดการโดย มูลนิธิอเนกกุศลศาลา (วิหารเซียน) ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ภายใต้การดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา