ท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชุมชน พัทลุง


งานลากพระ แข่งเรือ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง

ประเพณีลากพระจัดขึ้นในวันออกพรรษา มีขบวนเรือพระบกชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี และเรือพระน้ำ ความพิเศษของบรรยากาศในวันออกพรรษาที่อำเภอปากพะยูนจะคึกคักไปด้วยผู้คน ถือเป็นวิถีหนึ่งที่ต่างไปจากที่อื่น เนื่องจากที่ปากพะยูนเป็นชุมชนที่มีวิถีแห่งความผูกพันกันระหว่างพี่น้องชาวพุทธและชาวมุสลิม อยู่ร่วมกันอย่างสงบมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


ชุมชนเกาะหมาก

เกาะหมาก เกาะกลางทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นทะเลสาบแบบลากูนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นลากูนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความพิเศษของลากูน คือ มีระบบนิเวศแบบสามน้ำ ได้แก่ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ชุมชนเกาะหมากเป็นชุมชนประมงพื้นบ้านดั้งเดิม ใช้วิถีชีวิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ประชากรในชุมชนประมาณ ร้อยละ 90 ทำอาชีพประมงพื้นบ้าน วางกัด ดักไซ ทอดแห และทุกคนร่วมกันอนุรักษ์สัตว์น้ำ เพราะเป็นวิถีที่ต้องใช้ในการดำรงชีพ เกาะหมากจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีวิถีชุมชน และธรรมชาติที่น่าสนใจ


ชุมชนบ้านช่องฟืน

บ้านช่องฟืนเป็นหมู่บ้านประมงเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ตอนกลางของทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพและมีรายได้หลักจากการทำประมง เกือบ 30 ปี ที่ชาวบ้านพบปัญหาจากการที่ทะเลสาบเสื่อมโทรม ไม่มีสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับชุมชนอื่นรอบทะเลสาบ แต่มีกลุ่มคนในชุมชนได้ร่วมกลุ่ม เช่นกลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มประมงอาสา รวมตัวกันแก้ปัญหาและฟื้นเลด้วยการทำเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำของชุมชน


หมู่บ้านทะเลน้อย

ปัจจุบันชาวบ้านส่วนหนึ่งเดินทางออกไปหางานทำในต่างถิ่น ชาวบ้านที่เหลือก็ยังทำประมง ทำหัตถกรรม (หัตถกรรมกระจูด) ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป การเดินชมบรรยากาศในหมู่บ้านภายในหมู่บ้าน จะได้พบกับงานหัตถกรรมกระจูด ตั้งแต่การเริ่มตากกระจูด รีด สาน ย้อมสี จนกระทั่งตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น เสื่อ กระเป๋า ตะกร้า เป็นต้น รอยยิ้มและเสียงทักทายของชาวบ้านในชุมชน เป็นสิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวหลายคนที่ไปเยือนหมู่บ้านทะเลน้อยเกิดความประทับใจในอัธยาศัยไมตรีของชาวบ้านที่นี่


วิสาหกิจชุมชนตาลโตนด โหนด นา เล (ศูนย์การเรียนรู้โหนด นา เล)

เมื่อปี พ.ศ. 2544 ชุมชนตำบลท่าหินได้รวมตัวกันจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ เพื่อจะอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีชีวิตท้องถิ่นของตนเอง ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตที่มีอัตลักษณ์จากวิถีการทำตาลโตนด วิถีการทำนา วิถีการประมง (ชาวเล) จึงเกิดศูนย์การเรียนรู้โหนด-นา-เล ขึ้น "โหนด" มาจากการทำ ตาลโตนด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากตาล เป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน "นา" มาจากการ ทำนา ที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ให้ยั่งยืน "เล" มาจาก วิถีชาวเล วิถีประมงสามน้ำในทะเลสาบสงขลา


รีวิว (0 เรตติง)